




- ระบบและกลไกการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร การซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิงานวิจัย
1. การตัดสินใจเลือกรูปแบบการขอรับความคุ้มครอง
เมื่อได้ทำการประดิษฐ์คิดค้นหรือออกแบบผลิตภัณฑ์ขึ้นมา และประสงค์จะขอรับความคุ้มครองอาจจะมีปัญหาว่า ควรจะขอรับความคุ้มครองในรูปแบบใดจึงเหมาะสมทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์จะขอรับความคุ้มครองควรที่จะคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.1 สิ่งที่คิดค้นขึ้นมานั้นเป็นการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ในกรณีนี้สามารถที่จะพิจารณาได้ง่ายว่า ถ้าสิ่งนั้นเป็นการคิดค้นที่ก่อให้เกิดลักษณะใหม่ที่มีหน้าที่การทำงานและมีประโยชน์ใช้สอย ก็สามารถสรุปได้ทันทีว่าเป็น “การประดิษฐ์” แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นการคิดค้นเกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะ หรือลวดลาย ที่ปรากฏอยู่บนตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความสวยงาม สามารถสรุปได้ว่าเป็น “การออกแบบผลิตภัณฑ์” ซึ่งควรที่จะยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ ในกรณีที่เป็นการประดิษฐ์ ก็ต้องตัดสินใจอีกว่า ควรที่จะขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์หรืออนุสิทธิบัตร ในกรณีนี้ ผู้ขอความคุ้มครองที่จะคำนึงถึงต่อไปว่า สิ่งประดิษฐ์นั้นมีเทคนิคที่ซับซ้อน
หรือไม่ หากมีเทคนิคที่ซับซ้อน ก็ควรที่จะขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขที่ว่า จะต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ นั่นคือ จะต้องดูว่าลักษณะของสิ่งประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ควรที่จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขใด
1.2 องค์ประกอบอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า อายุการคุ้มครอง ขั้นตอนการจดทะเบียนที่ไม่ยุงยากซับซ้อน เป็นต้น ซึ่งผู้ขออาจจะนำมาประกอบการพิจารณาเลือกว่าจะยื่นคำขอแบบใด2. ขั้นตอนการจดทะเบียน
2.1 สิทธิบัตรการประดิษฐ์
(1) การยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จะต้องยื่นคำขอพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมประกอบด้วย
(1.1) แบบพิมพ์คำขอรับสิทธิบัตรแบบ สป/สผ/อสป/001-ก
(1.2) รายละเอียดการประดิษฐ์ ที่มีหัวข้อครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
(1.3) ข้อถือสิทธิ
(1.4) บทสรุปการประดิษฐ์
(1.5) รูปเขียน (ถ้ามี)
(1.6) เอกสารอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น หนังสือโอนสิทธิ สัญญาการว่าจ้าง หนังสือมอบ
อำนาจ หนังสือรับรองนิติบุคคล เป็นต้น
** รายการที่ 1.2 - 1.6 ผู้ขอจะต้องจัดเตรียมขึ้นเองในกระดาษ ขนาด A4 **
(2) เมื่อยื่นคำขอตามข้อ 1 แล้ว ถ้ามีสิ่งบกพร่องที่พอจะแก้ไขได้เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอหรือตัวแทนของผู้ขอทราบ เพื่อให้ทำการการแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งนี้จะมีเงื่อนเวลาว่า จะต้องดำเนินการภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง หากดำเนินการไม่ทันก็สามารถขอผ่อนผันได้ หากพ้นระยะเวลาจะถือว่าผู้ขอละทิ้งคำขอ
(3) ในการแก้ไขเพิ่มเติม ผู้ขอจะต้องใช้แบบ สป/สผ/อสป/003-ก ในการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งต้องชำระค่าธรรมเนียม
(4) ในกรณีคำขอตามข้อ 1 ถูกต้องหรือได้แก้ไขถูกต้องตามข้อ3 แล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอมาดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณาเป็นเงิน 500 บาท โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งสองครั้งๆละ 60 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง หากพ้นระยะเวลา จะถือว่าผู้ขอละทิ้งคำขอ ในการประกาศโฆษณานี้ จะประกาศในหนังสือประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร เป็นเวลา 90 วัน และให้จัดส่งคำขอรับสิทธิบัตร
ชุดล่าสุดอีกหนึ่งชุด พร้อมทั้งส่งคำแปลข้อถือสิทธิ บทสรุปการประดิษฐ์เป็นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านกรณีที่ผู้อื่นเห็นว่า สิ่งที่ยื่นขอสิทธิบัตรนั้นไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือผู้ขอไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์ แอบเอาของผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์มาจดทะเบียน
(5) เมื่อประกาศโฆษณาแล้ว ผู้ขอต้องยื่นขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียม โดยใช้แบบ สป/สผอสป/005-ก ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันประกาศโฆษณา หากพ้นระยะเวลาจะถือว่าผู้ขอละทิ้งคำขอ
(6) ภายหลังจากมีการขอให้ตรวจสอบแล้ว เจ้าหน้าที่ที่จะทำการสืบค้นเอกสารว่า เคยมีสิ่งประดิษฐ์เดียวกันหรือคล้ายกันหรือไม่ (รวมทั้งการตรวจค้นเอกสารจากต่างประเทศด้วย) ถ้าคำขอถูกต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมาย จะแจ้งให้ผู้ขอมาชำระค่าธรรมเนียมการรับจดทะเบียน และออกสิทธิบัตรให้ผู้ขอต่อไป หากไม่ถูกต้องจะยกคำขอ
2.2 สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
(1) การยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ จะต้องยื่นคำขอพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียม
ซึ่งคำขอต้องประกอบด้วย
(1.1) แบบพิมพ์คำขอรับสิทธิบัตรแบบ สป/สผ/อสป/001-ก ซึ่งมี 2 หน้า
(1.2) คำพรรณนาแบบผลิตภัณฑ์ (ถ้ามี)
(1.3) ข้อถือสิทธิ
(1.4) รูปเขียน (ถ้ามี)
(1.5) เอกสารอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น หนังสือโอนสิทธิ สัญญาการว่าจ้าง หนังสือมอบอำนาจ
หนังสือรับรองนิติบุคคล เป็นต้น
** รายการที่ 1.2 - 1.5 ผู้ขอจะต้องจัดเตรียมขึ้นเองในกระดาษ ขนาด A4 **
(2) เมื่อยื่นคำขอตามข้อ 1 แล้ว ถ้ามีสิ่งบกพร่องที่พอจะแก้ไขได้ เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอหรือตัวแทนของผู้ขอทราบ เพื่อให้ทำการการแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งนี้ จะมีเงื่อนเวลาว่า จะต้องดำเนินการภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง หากดำเนินการไม่ทัน ก็สามารถขอผ่อนผันได้ หากพ้นระยะเวลาจะถือว่าผู้ขอละทิ้งคำขอ
(3) ในการแก้ไขเพิ่มเติม ผู้ขอจะต้องใช้แบบ สป/สผ/อสป/003-ก ในการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งต้องชำระค่าธรรมเนียม
(4) ในกรณีคำขอตามข้อ 1 ถูกต้องหรือได้แก้ไขถูกต้องตามข้อ3 แล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอมาดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณาเป็นเงิน 500 บาท โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งสองครั้งๆ ละ 60 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง หากพ้นระยะเวลา จะถือว่าผู้ขอละทิ้งคำขอ ในการประกาศโฆษณานี้ จะประกาศในหนังสือประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร เป็นเวลา 90 วัน และให้จัดส่งคำขอรับสิทธิบัตรชุดล่าสุดอักหนึ่งชุด พร้อมทั้งส่งคำแปลข้อถือสิทธิ บทสรุปการประดิษฐ์เป็นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการคัดค้าน กรณีที่ผู้อื่นเห็นว่าสิ่งที่ยื่นขอสิทธิบัตรนั้นไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือผู้ขอไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์ แอบเอาของผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์มาจดทะเบียน
(5) กรณีสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นี้ ผู้ขอไม่ต้องยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ ซึ่งจะใช้เฉพาะกรณีการประดิษฐ์เท่านั้น เมื่อประกาศโฆษณาครบ 90 วัน แล้วเจ้าหน้าที่จะทำการสืบค้นว่ามีแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมือนหรือคล้ายกันแพร่หลายมาก่อนหรือไม่ ถ้าคำขอถูกต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมาย จะแจ้งให้ผู้ขอมาชำระค่าธรรมเนียมการรับจดทะเบียน และออกสิทธิบัตรให้ผู้ขอต่อไป หากไม่ถูกต้องจะยกคำขอ
2.3 อนุสิทธิบัตร
(1) การยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร จะต้องยื่นคำขอพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมซึ่งคำขอต้อง
ประกอบด้วย
(1.1) แบบพิมพ์คำขอรับสิทธิบัตรแบบ สป/สผ/อสป/001-ก
(1.2) รายละเอียดการประดิษฐ์ ที่มีหัวข้อครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
(1.3) ข้อถือสิทธิ
(1.4) บทสรุปการประดิษฐ์
(1.5) รูปเขียน (ถ้ามี)
(1.6) เอกสารอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น หนังสือโอนสิทธิ สัญญาการว่าจ้าง หนังสือมอบอำนาจ
หนังสือรับรองนิติบุคคล เป็นต้น
** รายการที่ 1.2 - 1.6 ผู้ขอจะต้องจัดเตรียมขึ้นเองในกระดาษ ขนาด A4 **
(2) เมื่อยื่นคำขอตามข้อ 1 แล้ว ถ้ามีสิ่งบกพร่องที่พอจะแก้ไขได้ เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอหรือตัวแทนของผู้ขอทราบ เพื่อให้ทำการการแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งนี้ จะมีเงื่อนเวลาว่า จะต้องดำเนินการภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง หากดำเนินการไม่ทัน ก็สามารถขอผ่อนผันได้ หากพ้นระยะเวลาจะถือว่าผู้ขอละทิ้งคำขอ
(3) ในการแก้ไขเพิ่มเติม ผู้ขอจะต้องใช้แบบ สป/สผ/อสป/003-ก ในการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งต้องชำระค่าธรรมเนียม
(4) ในกรณีคำขอตามข้อ 1 ถูกต้อง หรือแก้ไขถูกต้องตามข้อ 3 แล้ว จะรับจดทะเบียนและออกอนุสิทธิบัตรให้แก่ผู้ขอ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอมาดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมการรับจดทะเบียนและออกอนุสิทธิบัตร และประกาศโฆษณาเป็นเงิน 1,000 บาท ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง หากพ้นระยะเวลา จะถือว่าผู้ขอละทิ้ง คำขอในการประกาศโฆษณาจะประกาศในหนังสือประกาศโฆษณาอนุสิทธิบัตร เป็นเวลา 1 ปี
(5) เมื่อประกาศโฆษณาแล้ว บุคคลอื่นที่มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถที่จะขอให้ตรวจสอบอนุสิทธิบัตรว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โดยใช้แบบ สป/สผ/อสป/005-ก หากปรากฏว่า อนุสิทธิบัตรนั้นไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก็จะถูกเพิกถอนต่อไป
3. สถานที่และวิธีการขึ้นจดทะเบียน
สถานที่ยื่นขอจดทะเบียน สามารถยื่นคำขอจดทะเบียน ส่วนบริหารงานจดทะเบียน (ชั้น 3) สำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถนนสนามบินน้ำ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 0-2547-4710 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่ท่านมีภูมิลำเนาอยู่
วิธีการยื่นขอจดทะเบียน
1. ยื่นขอโดยตรงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมชำระค่าธรรมเนียม
2. ส่งคำขอทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้อำนวยการส่วนบริหารงานจดทะเบียนพร้อมชำระค่าธรรมเนียมโดยชำระทางธนาณัติสั่งจ่ายในนาม ผู้อำนวยการบริหารงานจดทะเบียน
3. การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา
รูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบ่งออกเป็น 3 แบบคือ
1. การทำสัญญาวิจัย
รายละเอียด: งานวิจัยที่ดำเนินการภายในมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก
แหล่งทุนภายนอก สัญญาวิจัย ซึ่งเป็นเสมือนข้อตกลงในประเด็นต่างๆ ในการดำเนินงานวิจัย ระหว่าง
ผู้ให้ทุนและผู้ทำวิจัย รูปแบบสัญญาวิจัยจึงเป็นไปตามลักษณะการดำเนินงานวิจัย ซึ่งประกอบด้วย
- สัญญารับทุนสนับสนุนการวิจัย (Sponsored Research)
- สัญญารับจ้างวิจัย (Commission Research)
- สัญญาร่วมวิจัย (Collaborative Research)
- สัญญาให้สารหรือวัสดุเพื่อการวิจัย (Research Materials Transfer)
- สัญญาการให้คำปรึกษา (Research Consultancies)
ทั้งนี้ให้คณะกรรมการบริหารงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ของคณะมีหน้าที
- ที่ปรึกษาทางกฎหมาย
- เจรจาต่อรองเงื่อนไขสัญญา
- หาแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนางานวิจัย
- ร่างสัญญาร่วมวิจัย
2. การอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing)
รายละเอียด: การอนุญาตให้ใช้สิทธิคือการอนุญาตให้ผู้ขอใช้สิทธิได้ใช้สิทธิใดๆ เช่น ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร จากผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิซึ่งเป็นเจ้าของสิทธินั้น โดยไม่มีการเปลี่ยนความเป็นเจ้าของโดยทั่วไป การอนุญาตให้ใช้สิทธิจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ
- ให้ใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Licensing)
- ให้ใช้สิทธิโดยไม่จำกัดแต่เพียงผู้เดียว (Non-Exclusive Licensing)
- ให้ใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแต่ไม่จำกัดเจ้าของสิทธิ (Sole Licensing)
ทั้งนี้ให้คณะกรรมการบริหารงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ของคณะมีหน้าที่
- ประเมินมูลค่าเทคโนโลยี
- ศึกษาและวิเคราะห์การตลาดของทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์
- ประสานงานและเจรจาต่อรองกับภาคเอกชน/ภาคอุตสาหกรรม
- ร่างสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
- ติดตามการอนุญาตให้ใช้สิทธิ
3. การจัดตั้งบริษัท (Spin-off/Start-Up Companies)
โดยมหาวิทยาลัยฯ จะพิจารณาเลือกรูปแบบที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อมหาวิทยาลัยและผู้ประดิษฐ์/นักวิจัยรายละเอียด: สำหรับผลงานวิจัยที่มีศักยภาพในการจัดตั้งบริษัทจะถูกนำเข้าสู่การบ่มเพาะธุรกิจ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการบริหารจัดการงานวิจัยของคณะฯ มีหน้าที่
- ให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจ
- เขียนแผนธุรกิจ
- พัฒนาธุรกิจ
- พิจารณา/ประเมินแผนธุรกิจ
- ติดต่อแหล่งเงินทุน
- ช่วยเหลือในการจดทะเบียนบริษัท
- ร่างสัญญาที่เกี่ยวข้อง
- ประสานงานเพื่อช่วยเหลือด้านการตลาด
- จัดเตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่และสิ่งจำเป็นในการประกอบธุรกิจเบื้องต้น